1. ความสำคัญของ Corporate Power Purchase Agreement (Corporate PPA หรือ CPPA)
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันได้รับแรงกดดันจากหลายภาคส่วน อาทิเช่น หน่วยงานภาครัฐ ผู้บริโภค ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าภาคเอกชน เช่น กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินธุรกิจ (กลุ่มบริษัท RE100) มีความต้องการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อแสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) จากการใช้ไฟฟ้าภายในกิจการ ภายใต้ขอบเขตที่2 (Scope 2) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emissions) ซึ่งปัจจุบันสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเอกชน (Corporate PPA) มีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบที่มีการซื้อไฟฟ้าที่ผู้ผลิตและผู้ใช้อยู่ภายในสถานที่เดียวกัน (on-site PPA) อาทิเช่น การติดตั้งแผงโซล่าร์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ง่ายและได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ขนาดพื้นที่ติดตั้ง เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้การซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบนี้ไม่สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รูปที่ 1 กลุ่มบริษัท RE100
นอกจากนั้นยังรูปแบบที่มีการซื้อไฟฟ้าที่ผู้ผลิตและผู้ใช้อยู่ต่างสถานที่ (off-site PPA) ซึ่งครอบคลุมทั้งรูปแบบที่มีการซื้อไฟฟ้าจริง (Physical PPA) เช่น Sleeved PPA และ Direct PPA เป็นต้น หรือรูปแบบสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ไม่มีการซื้อไฟฟ้าจริง แต่เป็นเพียงสัญญาทางการเงินเท่านั้น (Financial Contract) เช่น รูปแบบสัญญาเสมือน (Virtual PPA) เป็นต้น เนื่องจากโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบันของประเทศไทยเป็นรูปแบบผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer: ESB) ดังนั้นจึงอาจไม่รองรับการดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าด้วยรูปแบบสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเอกชน (Corporate PPA) ที่มีหลายรูปแบบ
ในบางกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าบางรายมีความสนใจซื้อใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC หรือ Guarantee of Origin: GO) จากผู้ค้าใบรับรองดังกล่าว แยกออกจากการซื้อไฟฟ้าจากผู้ให้บริการไฟฟ้า (Unbundled REC) หรือในบางกรณีผู้ให้บริการไฟฟ้าสามารถให้บริการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคู่กับใบรับรองเครดิต (Bundled REC) ที่เรียกว่าอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) เพื่อให้บริการพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2. รูปแบบสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเอกชน (Corporate PPA)
ในการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนด้วยการจัดทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน (Corporate PPA) ถือเป็นกลไกทางการเงินที่ช่วยให้หน่วยงานการไฟฟ้าและบริษัทเอกชน สามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียน (RE) จากบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ถือเป็นกลไกส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทน (RE Investment) ที่ใช้ต้นทุนเงินลงทุนล่วงหน้า (Upfront Cost) น้อยที่สุดหรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับรูปแบบของ PPA ประกอบกับ ต้นทุนในการจัดหาพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กลไก PPA รูปแบบนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในการตอบโจทย์การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวเพื่อตอบเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของภาคเอกชนในประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.) ในขณะเดียวกัน กลไกนี้เริ่มได้รับความนิยมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในสหภาพยุโรป หรือในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)
ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Corporate PPA) เป็นกลไกที่แตกต่างจากกลไกนโยบายรัฐที่ใช้งบประมาณในการอุดหนุนโดยตรงเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ Feed-in Premium (FIP) หรือ Feed-in Tariff (FIT) เนื่องจาก Corporate PPA เป็นการกำหนดกฎระเบียบที่อนุญาตให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้ โดยทั่วไป ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน หมายถึง สัญญาการส่งมอบไฟฟ้าระหว่างผู้ขายไฟฟ้าและผู้ซื้อล่วงหน้า ซึ่งมีการรับประกันรายได้และผลตอบแทนจากการลงทุน ระหว่างคู่สัญญาในช่วงระยะเวลาตามสัญญา ซึ่งโดยทั่วไปมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ถึง 25 ปี ทำให้ผู้ประกอบการเอกชน นักลงทุนและธนาคารพาณิชย์สามารถวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางการเงินและความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ เป็นการโอนย้ายผู้ลงทุนจากเดิมที่ต้องเป็นภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างธุรกิจโรงไฟฟ้าหรือเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ซึ่งนําไปสู่การสร้างภาระผูกพันด้านต้นทุนพลังงานภายใต้งบประมาณของภาครัฐในระยะยาว เปลี่ยนมาเป็นส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนเพื่อจัดหาไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้เองเพื่อเพิ่มเติมไฟฟ้าสีเขียวเข้าสู่ระบบ (Additionality)
หากพิจารณารูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยดูจากคู่สัญญา ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จะมีข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า (Utilities PPA) และข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Corporate PPA) ในขณะที่ สหภาพยุโรป มีข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมซึ่งคู่สัญญาคือชุมชนพลังงานและสหกรณ์พลังงาน (Community PPA) ทั้งนี้ การเลือกใช้ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รูปแบบใดนั้นขึ้นกับภาระผูกพันด้านกฎระเบียบที่รัฐบาลมุ่งเน้นเป็นสำคัญ โดย Utilities PPA เป็นที่นิยมหากนโยบายรัฐบาลมีการกำหนดโควต้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบให้ได้ตามเป้าหมาย เช่นที่ สหรัฐอเมริกามีข้อกําหนดมาตรฐานพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียน (Renewable Portfolio Standard: RPS) หรือ รัฐบาลสวีเดนมีกำหนดโควตาสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระบบ โดยเปิดช่องทางให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวซื้อไฟฟ้าผ่านการไฟฟ้าในอัตราพิเศษ ในขณะที่ Corporate PPA เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นองค์กรเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม (Commercial & Industrial) ที่ต้องจัดหาไฟฟ้าหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมาย และข้อได้เปรียบด้านราคาค่าไฟจากต้นทุนการผลิต RE ที่ถูกลงเมื่อเทียบกับไฟฟ้าที่มาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ซื้อผ่านระบบปกติ
2.1 รูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า

รูปที่ 2 โครงสร้างของ Corporate PPA (ตามนิยามที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา)
รูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) มีลักษณะสำคัญและชื่อเรียกที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับ 1) กรอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบ PPA และ 2) ความสามารถของผู้ซื้อและรูปแบบธุรกิจของผู้ซื้อในการส่งมอบเนื้อไฟและใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)
ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีโครงสร้าง PPA อยู่ 2 แบบ คือ
- รูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าแบบกายภาพ (Physical PPA) ซึ่งมีการส่งมอบทั้งเนื้อไฟ และใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC)
- รูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าแบบการเงิน (Financial PPA หรือ Virtual PPA หรือ Synthetic PPA) ซึ่งมีการส่งมอบใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น โดยไม่มีการส่งมอบเนื้อไฟ
2.1.1 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทางกายภาพ (Physical PPA)
เป็นสัญญาที่ผู้ซื้อไฟฟ้าตกลงที่จะซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยผู้ซื้อจะได้รับไฟฟ้าโดยตรงผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือ กริด (Grid) ในสัญญาประเภทนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการพลังงานหมุนเวียนจะถูกส่งมอบให้กับผู้ซื้อเพื่อการใช้งานผ่านโครงข่ายของบริษัทที่ให้บริการสาธารณูปโภคท้องถิ่น หรือผ่านการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
Physical PPA มีลักษณะที่สำคัญคือ
- มีการส่งมอบไฟฟ้าจริง โดยผู้ซื้อจะได้รับไฟฟ้าในปริมาณที่สอดคล้องกับไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการพลังงานหมุนเวียน
- มีราคาคงที่ ผู้ซื้อมักจะตกลงราคาคงที่สำหรับไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งช่วยป้องกันความผันผวนของราคาพลังงาน
- มีสัญญาระยะยาว เป็นข้อตกลงระยะยาวที่รับประกันรายได้ที่มั่นคงสำหรับผู้ผลิตพลังงาน ในขณะที่มั่นใจว่าจะมีการจัดหาพลังงานที่เสถียรสำหรับผู้ซื้อ
- มีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าเดียวกัน เนื่องจากไฟฟ้าถูกส่งมอบจริงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านโครงข่าย
สัญญาซื้อขายไฟฟ้า Physical PPA สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
2.1.1.1 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบติดตั้งภายในสถานที่ (On-site PPA)

รูปที่ 3 โครงสร้างของ On-site PPA
มีการติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียนอยู่ภายในสถานที่ของบริษัทผู้ซื้อไฟฟ้า เช่น แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) หรือกังหันลมขนาดเล็ก หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยพลังงานที่ผลิตได้จะถูกใช้ภายในสถานที่เดียวกันที่ผลิตขึ้น โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ให้บริการสาธารณูปโภคในกรณีที่มีการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ และอาจมีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าโครงข่ายในกรณีที่มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า
2.1.1.2 สัญญารับซื้อไฟฟ้าตรง (Physical/Direct PPA)
สัญญารูปแบบนี้ คือข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้ผลิตพลังงานทดแทนและผู้ซื้อไฟฟ้า ให้มีการการส่งมอบเนื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิตให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างในคำนิยาม Direct PPA ในสหรัฐอเมริกาและ สหภาพยุโรป เนื่องจากในสหรัฐอเมริกานั้น Physical/Direct PPA นั้น ผู้ผลิตและผู้ซื้อไฟฟ้าสามารถอยู่ต่างพื้นที่ (Off-site PPA) และต้องใช้โครงข่ายการไฟฟ้าในการส่งมอบไฟฟ้า ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้ไฟฟ้า (Balance of Supply and Demand) ในโครงข่าย ดังนั้นจึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งและจำหน่ายจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้ไฟฟ้า (Balance Responsible Party: BRP) ในขณะที่ Direct PPA ในสหภาพยุโรปจะเป็นการติดตั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบ Behind the Meter PPA หรือ On-Site PPA เท่านั้น ซึ่งไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อโครงข่ายไฟฟ้า
กรณี Off-site PPA ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตจะถูกส่งมอบไปยังผู้ซื้อผ่านสายส่งไฟฟ้าระหว่างสองฝ่าย หรือผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบริษัทสาธารณูปโภค (โครงข่ายสาธารณะ) โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้โครงข่าย (Wheeling Charge) เนื่องจากผู้ซื้อได้รับกรรมสิทธิ์ในพลังงานที่ผลิตในข้อตกลงประเภทนี้ ราคาสุดท้ายสำหรับไฟฟ้าที่ส่งมอบจะขึ้นอยู่กับราคาที่ตกลงใน PPA รวมกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการส่งไฟฟ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสัญญารูปแบบนี้เป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งวิธีการนี้ผู้ซื้อไฟฟ้าเป็นผู้รับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

รูปที่ 4 แสดงความแตกต่างของคำจำกัดความ Corporate PPA ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

รูปที่ 5 โครงสร้างของ Direct PPA
แบบซื้อขายไฟฟ้าผ่านโครงข่ายสาธารณะ (Off-site PPA รูปด้านบน)
และแบบภายในสถานที่เดียวกัน (On-site PPA รูปด้านล่าง)
2.1.1.3 สัญญารับซื้อไฟฟ้าผ่านตัวแทน (Sleeved PPA)
เป็นข้อตกลงทางสัญญาระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และผู้ซื้อไฟฟ้า โดยมีการช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลาง (Sleeves) ซึ่งมักจะเป็นบริษัทสาธารณูปโภคท้องถิ่นหรือผู้ให้บริการพลังงาน หรือเรียกว่าหน่วยงาน (Balance Responsible Party: BRP) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการความสมดุลของปริมาณไฟฟ้า (Balancing) และได้รับค่าบริการ (Sleeved Fees) สำหรับการจับคู่ระหว่างปริมาณผลิตและปริมาณไฟฟ้าที่ถูกใช้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยในสหรัฐอเมริกา Sleeved PPA คือ การทำสัญญา 3 ฝ่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้ไฟฟ้าและการไฟฟ้าท้องถิ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการไฟฟ้าและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้
- ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน เช่น จากโซลาร์เซลล์ หรือ พลังงานลม และส่งไฟฟ้าสู่กริดของหน่วยงาน BRP
- ตัวกลาง (บริษัทให้บริการด้านสาธารณูปโภค) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่จัดการการส่งมอบไฟฟ้าจากผู้ผลิตไปยังผู้ซื้อ บริษัทสาธารณูปโภคมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าผู้ซื้อได้รับปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ตกลงกันไว้ แม้ว่าผู้ผลิตอาจไม่สามารถจัดหาได้ในบางช่วงเวลา
- ผู้ซื้อไฟฟ้า เป็นข้อตกลงระยะยาวที่รับประกันรายได้ที่มั่นคงสำหรับผู้ผลิตพลังงาน ในขณะที่มั่นใจว่าจะมีการจัดหาพลังงานที่เสถียรสำหรับผู้ซื้อ
ดังนั้น Sleeved PPA ในสหรัฐอเมริกาอาจเรียกอีกชื่อว่า Back-to-Back PPA ในขณะที่ Direct Off-site PPA จะเป็นสัญญาแค่สองฝ่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น โครงสร้าง Sleeved PPA จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่ต้องจัดการกับความยุ่งยากในการส่งมอบพลังงานด้วยตนเอง เช่น ในสัญญา Direct PPA
ประโยชน์ของการทำ Sleeved PPA คือการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้ผู้ผลิตสามารถเลือกพื้นที่และขนาดโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและมีต้นทุนต่ำสุด และช่วยลดความเสี่ยงเนื่องจากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าในโครงข่ายรายอื่นสามารถเข้าร่วมสัญญาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม Sleeved PPA จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่บนโครงข่ายเดียวกัน

รูปที่ 6 โครงสร้างของ Sleeved PPA
ที่มา บทความ ‘Corporate Renewable Power Purchase Agreements:
Scaling up Globally’ จาก WBCSD
2.1.2 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสมือน (Virtual PPA: VPPA)
การทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อในรูปแบบการป้องกันความเสี่ยงด้านราคา หรือ การที่ผู้ซื้อมีการรับประกันราคาให้แก่ผู้ผลิตในอัตราที่ตกลงไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีการส่งมอบไฟฟ้าระหว่างกัน หากแต่เป็นการส่งมอบใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RE Certificate) ดังนั้น ในข้อตกลงซื้อขายนี้ ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปขายในตลาดค้าส่ง (Wholesale Market) โดยมีการรับประกันส่วนต่างระหว่างราคาที่ตกลงไว้ (Strike Price) และราคาค่าไฟฟ้าในตลาดค้าส่ง (Settlement Price) โดยพื้นฐานแล้ว VPPA ทํางานคล้ายกับ Contract for Difference (CfD) ที่มีการชดเชยส่วนต่างของราคา
Virtual PPA (VPPA) เป็นสัญญาทางการเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบพลังงานจริงไปยังสถานที่ของผู้ซื้อ แต่เป็นการสร้างข้อตกลงทางการเงินที่ช่วยให้บริษัทและผู้ซื้ออื่นๆ สนับสนุนการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน และยังได้รับประโยชน์จากความเสถียรของราคาไฟฟ้าที่มีการชดเชยส่วนต่างของราคา ซึ่งทำให้มีความแตกต่างจากรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทางกายภาพ (Physical PPA)
โดยทั่วไปแล้ว VPPA จะเป็นสัญญาระหว่างผู้ซื้อไฟฟ้า (เช่น บริษัทที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตน) กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน และบางครั้งยังมีตัวกลาง เช่น ธนาคารหรือที่ปรึกษาโครงการ
หลักการทำงานของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสมือน (VPPA)
กลไกการกำหนดราคาในข้อตกลงซื้อพลังงานเสมือน (VPPA) ประกอบด้วยส่วนที่ขับเคลื่อนโดยตลาดและส่วนที่เป็นสัญญา โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือ
ราคาตลาด (Settlement Price) คือราคาขายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคที่ตั้งของโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งราคานี้ถูกกำหนดโดยตลาดไฟฟ้าและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยต่างๆ เช่น อุปทานและความต้องการ สภาพอากาศ ราคาต้นทุนเชื้อเพลิง และการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ เป็นต้น
ราคาที่ตกลงไว้ (Strike Price) หรือราคาที่กำหนดร่วมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นราคาคงที่ที่ผู้ซื้อไฟฟ้าตกลงที่จะจ่ายสำหรับแต่ละหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการพลังงานทดแทนตลอดระยะเวลาของข้อตกลง (เช่น 10-20 ปี) ราคานี้จะถูกตกลงในขณะที่ทำสัญญา โดยราคาดังกล่าวออกแบบมาเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินแก่ผู้ผลิตพลังงานทดแทน ช่วยให้สามารถจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการด้วยรายได้ที่คาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีการตกลงราคาไว้ที่ไม่คงที่ เช่น การปรับราคาตามเงินเฟ้อ
โดยการซื้อขายในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสมือน ผู้ผลิตไฟฟ้าจะขายไฟฟ้าสู่กริดในราคาตลาด และผู้ซื้อไฟฟ้าจะทำการซื้อไฟฟ้าจากบริษัทสาธารณูปโภคท้องถิ่นที่เป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้า (Retailer) และผู้ซื้อไฟฟ้ามักจะได้รับใบรับรองพลังงานทดแทน (Guarantee of Origin: GO หรือ Renewable Energy Certificate: REC) จากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะทำสัญญา Contract for Difference (CfD) ซึ่งเป็นสัญญาทางการเงินที่ทั้งสองฝ่ายชำระค่าใช้จ่ายระหว่างกัน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างราคาที่กำหนดไว้และราคาตลาด โดยหากราคาตลาดสูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ (Market Spike) ผู้ผลิตพลังงานทดแทน (ผู้ขาย) จะจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาเป้าหมายให้กับผู้ซื้อ และหากราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ (Market Drop) ผู้ซื้อจะชดเชยราคาให้กับผู้ขายสำหรับความแตกต่างนั้น

รูปที่ 7 โครงสร้างของ Virtual PPA หรือ Synthetic PPA
ที่มา บทความ ‘Corporate Renewable Power Purchase Agreements:
Scaling up Globally’ จาก WBCSD

รูปที่ 8 โครงสร้างของ Virtual PPA หรือ Synthetic PPA
ที่มา บทความ Pricing Structure for corporate renewable PPAs’ จาก WBCSD
2.1.3 สัญญาซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Unbundled GO or REC Purchase Contract)
เป็นการซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น (โดยทั่วไปรู้จักกันในชื่อ Guarantee of Origin: GO หรือ Renewable Energy Certificate: REC) ในกรณีนี้ ผู้ซื้อเพียงได้รับคุณลักษณะด้านสิ่งแวดล้อมของการผลิตพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น โดยไม่มีการส่งมอบไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า โดยผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะขายไฟฟ้าให้กับกริด แต่ขายใบรับรองพลังงานทดแทน (GO หรือ REC) แยกต่างหากให้กับผู้ซื้อที่ต้องการ โดย 1 REC เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 1,000 หน่วย หรือ 1 MWh
ผู้ซื้อ REC ที่แยกออกจากไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์ในประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมจากพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่จำเป็นต้องบริโภคไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนนั้นโดยตรง

รูปที่ 9 โครงสร้างของ Unbundled REC Purchase Contract
2.2 องค์ประกอบหลักและเงื่อนไขในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA)
เนื่องจากการทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นการตัดสินลงทุนในโครงการที่มีระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี ดังนั้น การร่าง PPA อย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจ สิทธิ ความรับผิดชอบและภาระผูกพันของผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ลงทุนและผู้ซื้อให้มีความชัดเจน ครอบคลุมมิติสำคัญ ดังนี้ 1) สิทธิและภาระผูกพันของคู่สัญญาถูกกําหนดไว้อย่างชัดเจน 2) ความเสี่ยงของโครงการได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสมระหว่างคู่สัญญา และ 3) ข้อกําหนดและเงื่อนไขของการขายไฟฟ้า (รวมถึงการกําหนดราคาและการส่งมอบ)
PPA: ส่วนประกอบหลักและเงื่อนไข |
|
---|---|
สิ่งส่งมอบให้ผู้ซื้อ | ผู้ซื้อได้รับไฟฟ้า และ/หรือ ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน REC |
ภาระผูกพันทางกฎหมาย | สัญญากําหนดภาระผูกพันทางกฎหมายของผู้ซื้อและเจ้าของระบบสำหรับ การบำรุงรักษาระบบ การซ่อมแซม หรือความรับผิดอื่น ๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน |
ระยะเวลาสัญญา | ระยะเวลาที่ผู้ซื้อตกลงที่จะซื้อพลังงานจากผู้ผลิต |
อัตราราคาค่าไฟในสัญญา | การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในสัญญา (ราคา/kWh) ที่ผู้ซื้อจะจ่ายเงินให้กับโครงการ โครงสร้างการกำหนดราคา PPA อาทิ ราคาคงที่และราคาแบบบันไดเลื่อน ถือเป็นโครงสร้างราคาที่ใช้กันทั่วไป |
การปรับราคาแบบขั้นบันได | การปรับราคา PPA เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปในอัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งโดยทั่วไปจะน้อยกว่า 3% |
การสิ้นสุดสัญญา | เงื่อนไขเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญา |
มิติด้านสิ่งแวดล้อม | การระบุความเป็นเจ้าของในสิทธิที่เกี่ยวข้องกับมาตรการส่งเสริมใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) |
การโอนสิทธิ์ | ความสามารถของผู้พัฒนาโครงการในการโอนสิทธิ์ในโครงการให้กับบุคคลอื่น |
การสนับสนุนด้านเครดิต | ผู้ซื้ออาจใช้เอกสารสินเชื่อเพื่อรองรับภาระผูกพันในการชำระเงิน (Letter of Credit) หรือเป็นรูปแบบของการค้ำประกันการชำระเงิน (Collaterals) |
เงื่อนไขการปฏิบัติงาน | การระบุเงื่อนไขที่ผู้ซื้อและเจ้าของระบบจะมีความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา (เช่น เหตุสุดวิสัย) |
ข้อกำหนดสิทธิ์ในการเข้าใช้พื้นที่ติดตั้งโรงไฟฟ้า | ข้อกำหนดสำหรับสิทธิ์ของผู้พัฒนาในการเข้าใช้และใช้ทรัพยากรของผู้ซื้อเพื่อการพัฒนาโครงการ การดำเนินงาน การบำรุงรักษา และการซ่อมบำรุง |
สิทธิ์ลดหย่อนทางภาษี | ผู้มีสิทธิ์รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในโครงการด้านพลังงานที่รัฐส่งเสริม |
การออกแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าที่ดีควรรวมแรงจูงใจทางการเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านความยืดหยุ่น (Flexibility) และความมั่นคงของโครงข่าย (Grid Reliability) อาทิ การมีข้อกําหนดซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบโดยรวมหรือแรงดันไฟฟ้า และป้องกันความล้มเหลวของการจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีแรงดันไฟฟ้าต่ำหรือเกินอย่างรุนแรง หรือข้อกำหนดซึ่งส่งผลด้านความยืดหยุ่นในระบบในมิติของ Load following
2.3 โครงสร้างของรูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนและเอกชน (Corporate PPA)
โครงสร้างของรูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนและเอกชน (PPA) เป็นกลไกทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากและมีหลากหลายรูปแบบตามความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้ขายไฟฟ้าซึ่งอาจจะมีหลายราย อาทิ
2.3.1 รูปแบบ Multi-buyer Structures
ซึ่งมีโครงสร้างผู้ซื้อหลายรายเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนผลิตไฟฟ้า 1 โครงการ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงสามารถแยกข้อตกลงซื้อขายไฟกับผู้ซื้อองค์กรหลายรายที่แตกต่างกันได้
2.3.2 รูปแบบ Aggregating Buyer Groups/Consortium
มีกลุ่มผู้ซื้อร่วมตัวกันเป็นสมาคม โดยอาจจะเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือมีหน่วยงานภาครัฐร่วมด้วย เพื่อเจรจาซื้อขายไฟฟ้าในสัญญาเดียวกับ PPA การรวมกลุ่มบริษัทผู้ซื้อพลังงานที่ร่วมกันซื้อพลังงานจากผู้ผลิต RE รายเดียวหรือหลายราย
2.3.3 รูปแบบ Portfolio Structuring of Pooled Smaller-Scale RE Projects
คือมีการจัดพอร์ตโฟลิโอรวบรวมโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเข้าด้วยกัน โดยมีบริษัทตัวกลางทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการทำหน้าที่ในการบริหารโครงการขนาดเล็กทั้งหมดแทน ซึ่งการบริหารแบบกองทุนนี้ดึงดูดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถลดต้นทุนการบริหารธุรกรรมของข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นรายๆไปได้
2.3.4. รูปแบบ Corporate PPA สําหรับผู้ซื้อไฟฟ้ารายย่อย
รูปแบบการรวมกลุ่มเป็นสมาคม (Club) การรวมกลุ่มแบบสมาคมของบริษัทรายย่อย ทำให้แม้ว่าการใช้พลังงานสำหรับผู้ซื้อรายย่อยแต่ละรายจะมีขนาดเล็ก แต่การรวมพลังงานจะช่วยให้เกิดการประหยัดจากขนาด และมีอำนาจในการต่อรองมากยิ่งขึ้น

รูปที่ 10 รูปแบบการรวมกลุ่มแบบ Club
ที่มา Bird & Bird (2023)
รูปแบบการเช่าร่วม (Joint Tenancy หรือ Anchor tenant) ซึ่งมี ผู้ซื้อหลักหรือผู้เช่าหลักที่ทําสัญญาซื้อไฟส่วนใหญ่ของโครงการไป และส่วนที่เหลือเปิดให้ลูกค้ารายย่อยสามารถลงนามสัญญา PPA ในปริมาณที่เล็กและในระยะเวลาที่สั้นกับผู้ผลิต RE เนื่องจาก PPA ลงนามโดยผู้ซื้อรายใหญ่ ผู้ซื้อรายย่อยจึงมีตัวเลือก PPA น้อยลง และราคาและระยะเวลาของโครงการอาจไม่เอื้ออํานวยในท้ายที่สุด

รูปที่ 11 รูปแบบการเช่าร่วม
ที่มา Bird & Bird (2023)
รูปแบบการทําสัญญาของผู้ค้าปลีก (Reseller Contracting Model) ผู้ซื้อรายใหญ่อาจซื้อพลังงานทั้งหมดจากโครงการ แล้วขายต่อส่วนหนึ่งของพลังงานที่ซื้อให้กับผู้ซื้อรายย่อยรายอื่น ผู้ซื้อรายย่อยในฐานะคู่สัญญาอีกทอดจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในแง่ของการเงินและการควบคุมความเสี่ยง ในทางกลับกัน คล้ายกับรูปแบบการเช่าร่วม Joint Tenancy เนื่องจาก PPA ลงนามโดยผู้ซื้อรายใหญ่ ผู้ซื้อรายย่อยจึงมีตัวเลือก PPA น้อยลง และราคาและระยะเวลาของโครงการอาจไม่เอื้ออํานวยในท้ายที่สุด

รูปที่ 12 การทําสัญญาของผู้ค้าปลีก
ที่มา Bird & Bird (2023)
3. กรณีศึกษารูปแบบสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเอกชน (Corporate PPA) ในต่างประเทศ
การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมให้ ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Corporate PPA) สามารถดำเนินการได้ในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และบางประเทศในอาเซียน ครอบคลุม ประเภทสัญญา/ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า ปัจจัยส่งเสริมและข้อจำกัด ตลอดจนความท้าทายในมิติด้านกฎระเบียบทางนโยบาย ความคุ้มค่าทางการเงิน โดยเน้นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ด้านนโยบายและบริบทการพัฒนาตลาดไฟฟ้า เพื่อเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทยในการนํา Corporate PPA มาใช้สําหรับส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและการจัดหาพลังงานทดแทนเพื่อตอบเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้
จากข้อมูล BloombergNEF ซึ่งได้รีวิวสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2567) พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีการทำสัญญารูปแบบ Corporate PPA มากที่สุดในโลก ซึ่งนำโดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยกลุ่มผู้ทำสัญญาประเภทนี้มากที่สุดอยู่ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งนำโดย Microsoft Google Amazon Meta ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก

รูปที่ 13 แนวโน้มการใช้ CPPA ทั่วโลก (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2567)
ที่มา Bloomberg
3.1 สหรัฐอเมริกา (United States of America: USA)
คณะกรรมการกํากับดูแลพลังงานแห่งสหพันธรัฐ (Federal Energy Regulatory Commission: FERC) มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและควบคุมดูแลข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นยังมีส่วนร่วมในกระบวนการกํากับดูแลแตกต่างกันไปเพื่อให้กลไก PPA สอดคล้องกับนโยบายอื่น ๆ ของรัฐนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น รัฐนั้นกำหนดเป้าหมาย Renewable Portfolio Standard (RPS) จะเน้นให้การไฟฟ้า หรือ บริษัทสาธารณูปโภคในท้องถิ่นทำข้อตกลง Utilities PPA อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ Corporate PPA อย่างก้าวกระโดดมาจาก Facebook, Google, Amazon, AT&T, Walmart, Apple, Microsoft และ ExxonMobil เป็นผู้นําด้านการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานหมุนเวียนขององค์กรในสหรัฐอเมริกา โดยมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันคิดเป็นปริมาณ 58 % ของปริมาณ PPA ตามกําลังการผลิตตามสัญญาในปี 2018
1) กรอบการกำกับดูแลด้านกฎหมายและนโยบายเพื่อส่งเสริม Corporate PPA
การกํากับดูแลกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่ชัดเจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อ RE วางแผนการลงทุนโครงการพลังงานระยะยาวได้ ดังนั้น การออกแบบกฎระเบียบและการทํางานของตลาดไฟฟ้าจึงมีบทบาทสําคัญในการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรมซึ่งสนับสนุนการเติบโตของ PPA สําหรับ RE ในสหรัฐอเมริกา
2) กฎระเบียบของรัฐบาลกลาง
เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ จึงเป็นสิ่งสําคัญสําหรับผู้ซื้อและผู้ขายที่จะต้องเข้าใจว่าตลาดไฟฟ้าถูกควบคุมอย่างไรในสหรัฐอเมริกาในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐบาลท้องถิ่นตามโครงสร้างตลาดไฟฟ้าแต่ละพื้นที่ โดยภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานของรัฐบาลกลาง (FPA) คณะกรรมการกํากับดูแลพลังงานของรัฐบาลกลาง (FERC) มีบทบาทหน้าที่ในการควบคุมอัตราค่าไฟและการขายส่งไฟฟ้าระหว่างรัฐ การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ "ยุติธรรมและสมเหตุสมผล" ปกป้องผู้ซื้อจากการขึ้นราคาที่เป็นการริเริ่มโดยผู้ขายฝ่ายเดียว การปกป้องผู้ขายจากการแก้ไขกฎระเบียบย้อนหลัง เว้นแต่ FERC จะประกาศใช้การแก้ไขดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และมีการกำหนดมาตรฐานต้นทุนการบริการ โดย FERC จะกําหนดอัตราค่าไฟฟ้าในระดับที่ช่วยให้บริษัทผู้ลงทุนสามารถจ่ายคืนเงินกู้และดึงดูดเงินทุนได้ในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม กฎระเบียบด้านอัตราค่าไฟที่ควบคุมโดย FERC จึงสร้างความเชื่อมั่นและความชัดเจนให้แก่ภาคเอกชนในการตัดสินใจลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า RE ในรูปแบบข้อตกลงซื้อขายระหว่างเอกชนกับเอกชน PPA ได้
3) กฎระเบียบโครงสร้างตลาดไฟฟ้าแต่ละรัฐ
ความแพร่หลายรูปแบบ PPA ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ขึ้นกับว่าแต่ละรัฐมีกฎระเบียบอนุญาตให้มีตลาดค้าส่งและค้าปลีกหรือไม่ ในปี 1973 พระราชบัญญัตินโยบายการกํากับดูแลสาธารณูปโภค (Public Utilities Regulatory Policies Act: PURPA) ซึ่งประกาศใช้และอนุญาตให้รัฐ 17 รัฐสามารถปรับโครงสร้างตลาดขายส่งไฟฟ้า (Wholesale) ได้ และในปี 1990 มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมโดยอนุญาตแต่ละรัฐการแข่งขันตลาดค้าปลีกไฟฟ้า ในรัฐที่มีตลาดขายส่งไฟฟ้านั้นสามารถเปิดสิทธิให้ผู้ผลิต RE เอกชนเข้ามาร่วมในตลาดไฟฟ้าได้ ในขณะที่บางรัฐโดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งระบบไฟฟ้ายังคงเป็นระบบไฟฟ้าแบบ vertically integrated นั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถเข้ามาขายไฟฟ้าผ่านโครงข่ายในรูป Corporate PPA ได้ ทำได้เพียงแต่เป็น Utility PPA ในขณะเดียวกัน โดยทั่วไป Public utility commission (PUC) มีบทบาทกำกับดูแลหรืออนุญาตการขายปลีกไฟฟ้าและการกระจายในท้องถิ่นภายในรัฐ และการเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไปยังลูกค้าแต่ละรายโดยตรง
ดังนั้น รูปแบบการทำสัญญา Corporate PPA ไม่ว่าจะเป็นแบบ Physical PPA หรือ Virtual PPA จึงถูกกำหนดจากกฎระเบียบภายในแต่ละรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีความหลากหลายในเชิงรูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ในบางมลรัฐก็มีรูปแบบตลาดขายส่ง (Wholesale Market) บางมลรัฐมีรูปแบบตลาดขายปลีก (Retail Market)

รูปที่ 14 โครงสร้างตลาดไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา
ที่มา https://www.epa.gov/green-power-markets/us-electricity-grid-markets#structure
รูปแบบ Physical PPA มีข้อจํากัดค่อนข้างมากเพราะต้องมีการส่งมอบเนื้อไฟ โดยผู้ซื้อเอกชน (Buyer) จำเป็นต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีตลาดไฟฟ้าค้าปลีก (Retail Market) ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้า (Developer) ก็ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่โครงข่ายที่อนุญาตให้เชื่อมต่อกับผู้ดูแลสายส่ง (Independent System Operator : ISO) หรือ Regional Transmission Organization (RTO)
รูปแบบ Sleeved PPA นั้นเป็นที่นิยมในตลาดไฟฟ้าที่มีการควบคุม (Regulated Electricity Market) โดยใช้เป็นทางเลือกทดแทนกลไก Utility Green Tariff
รูปแบบ Virtual PPA (VPPA) เป็นที่นิยมแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรูปแบบ VPPA ซึ่งไม่จําเป็นต้องมีการส่งมอบเนื้อไฟทางกายภาพจากผู้ผลิตไปยังผู้ซื้อ ทำให้ผู้ผลิต RE สามารถอยู่ในสถานที่ใดก็ได้ที่มีเปิดเสรีตลาดค้าส่งไฟฟ้า

รูปที่ 15 ประเภท PPA ที่มีให้บริการภายใต้โครงสร้างตลาดที่แตกต่างกันในประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา DENA (2019).
4) กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงและการจัดการพลังงาน
ด้วยโครงสร้างราคาที่ออกแบบมาอย่างดี PPA สามารถใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าในระยะยาว และช่วยลดความเสี่ยงทั้งในการลงทุนและการดําเนินงาน และดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนให้เต็มใจที่จะลงทุนเพื่อเติมไฟฟ้าสีเขียวเข้ามาในระบบได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่ทําให้การเติบโตของ Physical PPA ชะลอตัวลงในบางช่วงก็มาจากแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมีทิศทางราคาถูกและการที่ต้นทุน RE ในอนาคตมีแนวโน้มลดลง ดังจะเห็นได้จาก สัดส่วนของ Physical PPA ในการติดตั้งกําลังการผลิตพลังงานลมของสหรัฐฯ ในปี 2000 มีสัดส่วน 80% ลดลงเหลือน้อยกว่า 50% ในปี 2018 ในขณะเดียวกัน รูปแบบ VPPA ที่เริ่มใช้ในปี 2015 ก็เป็นที่นิยมในการป้องกันความเสี่ยงโดยรับแค่ส่วนต่างของราคา และตอบความต้องใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC ได้ง่ายขึ้น

รูปที่ 17 สถิติการใช้ CPPA รูปแบบต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2567)
ที่มา BloombergNEF

รูปที่ 16 สถิติการใช้พลังงานสีเขียวผ่าน Corporate PPA ในสหรัฐอเมริกา
(ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2567)
ที่มา BloombergNEF
นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกา โครงสร้าง PPA ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้เพื่อจำกัดความเสี่ยงไม่ว่าจะจากความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน การถูกให้ลดกำลังการผลิต Curtailment ดังนั้น ข้อตกลง PPA จึงเป็นการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบจัดเก็บพลังงาน (Battery Storage: BESS) ในอัตราค่าไฟในสัญญา PPA ที่ใช้ BESS มีการเสนอราคาสองชั้นเพื่อส่งเสริมการปรับใช้แบตเตอรี่ หรือ การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การจัดสรรความเสี่ยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อโดยทำสัญญารูปแบบ Capacity & Energy PPA ซึ่งการกําหนดราคาประกอบด้วยสององค์ประกอบ คือ ราคากําลังการผลิตคงที่/MWh และค่าพลังงาน/MWh จึงช่วยจํากัดความเสี่ยงในการลดจํานวนสําหรับผู้ขายไว้ที่ค่าพลังงานเท่านั้น และรูปแบบการกำหนดเพดานราคา Time-of-Day เนื่องจากราคา PPA จะแตกต่างกันไปในแต่ละชั่วโมงของวัน ผู้ซื้อจึงสามารถกําหนดราคาต่ำในช่วงเวลาที่มีอุปทานล้นตลาดและให้ราคาสูงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้ ซึ่งแนวทางนี้จะกระตุ้นให้ผู้ผลิต RE เปลี่ยนการส่งออกพลังงานเป็นชั่วโมงที่มีราคาสูงขึ้น และเพื่อลดปริมาณ curtailment โดยรวมของระบบ นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนตัวแทนปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่คำนวณตามตัวเลขสมมุติฐานที่คาดการณ์ไว้ตามสภาพอากาศ มาใช้แทนปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตและส่งมอบได้จริงในสัญญาแบบเดิม
ในเชิงนโยบาย ข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนยังสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการลงทุนและปรับปรุงโครงข่ายของรัฐได้อย่างเหมาะ ความซับซ้อนของสัญญาเมื่อมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น และการปรับให้เข้ากับนโยบายภาครัฐและโครงสร้างตลาดไฟฟ้าที่กำลังปรับตัวรองรับรูปแบบธุรกิจไฟฟ้าใหม่
3.2 สหภาพยุโรป (European Union: EU)
ตลาดข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ยังค่อนข้างใหม่และมีปริมาณซื้อขายค่อนข้างน้อย สถานการณ์ในประเทศในสหภาพยุโรปค่อนข้างแตกต่างกันในการจัดหา RE เติมเข้าไปในระบบไฟฟ้าเนื่องจากโครงสร้างตลาดไฟฟ้าที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศที่มีระบบโควต้าพลังงานทดแทนในระบบ เช่น สวีเดน สหราชอาณาจักร และโปแลนด์ นิยมใช้ Utility PPA ในขณะที่ในสวีเดน รูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน Corporate PPA เป็นที่นิยมแพร่หลายและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปจากกลไกนโยบายสนับสนุนทั้งในมิติกฎระเบียบและโครงสร้างตลาดที่เอื้อให้ดำเนินการซื้อขายระหว่างเอกชนกับเอกชน
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการจัดหาพลังงานหมุนเวียนผ่านกลไกข้อตกลงซื้อขายพลังงานระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากคําสั่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Directive :RED II) ในปี 2018 ซึ่งตั้งเป้าหมายให้สหภาพยุโรปเพิ่มสัดส่วนการจัดหาพลังงานหมุนเวียน 32% ภายในปี 2030 ที่ปรับปรุงมาเป็น โปรแกรม ‘Fit for 55 Package’ ในปี 2021 ซึ่งมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 55% และเพิ่มสัดส่วนการจัดหาพลังงานหมุนเวียน 40% ภายในปี 2030 ทั้งยังได้กำหนดกรอบการดำเนินการที่สนับสนุนการจัดทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Corporate PPA) ที่ชัดเจนทั้งในมิติการลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในการทำข้อตกลง PPA และกลไกคุ้มครองด้านหลักประกัน เช่น กลไกการค้ำประกันสินเชื่อทางการเงินร่วมด้วย ในปี 2022 คณะกรรมาธิการยุโรปยังเปิดตัวแผน RE Power EU ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการกําหนดแผนงานสําหรับการเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียของสหภาพยุโรปและเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่ 45% ภายในปี 2030 เพื่อรับมือกับสงครามรัสเซีย ยูเครน
นอกจากนี้ ในปี 2021 มีการปรับแก้คําสั่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Directive :RED II) ที่สำคัญคือ การแก้ไขให้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Guarantee of Origin: GO) ของโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในรูป Feed-in-Tariff สามารถถ่ายโอนไปยังผู้ซื้อไฟโดยตรง (แทนที่จากเดิมใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้จะต้องนำมาประมูลซื้อขายอีกรอบ) ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้โครงการ ในปี 2023 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอการปฏิรูปการออกแบบตลาดไฟฟ้า โดยออกกฎระเบียบธุรกิจไฟฟ้า ที่อํานวยความสะดวกในการปรับใช้ PPA เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดหาพลังงานระหว่างเอกชนกับเอกชนได้โดยตรงและสามารถทํากําไรจากราคาค่าไฟจากโครงการลงทุน เพื่อให้สอดรับกับเงินอุดหนุนของภาครัฐที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 18 เป้าหมายพลังงานหมุนเวียนของยุโรปในปี 2030
ที่มา FSR Energy Union
1) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands)
การกํากับดูแลกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่ชัดเจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อ RE วางแผนการลงทุนโครงการพลังงานระยะยาวได้ ดังนั้น การออกแบบกฎระเบียบและการทํางานของตลาดไฟฟ้าจึงมีบทบาทสําคัญในการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรมซึ่งสนับสนุนการเติบโตของ PPA สําหรับ RE ในสหรัฐอเมริกา
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ค่อนข้างจะล้าหลังในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ประกาศไว้ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในมิติการให้เงินอุดหนุนตามปริมาณ CO2 ที่ลดลงได้ภายใต้ SDE++ (Stimulation of Sustainable Energy Production) แทนที่มาตรการเดิมที่คิดจากปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ นอกจากนี้ มาตรการให้ลดหย่อนภาษีในโครงการลงทุนด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในรูปของ Energy Investment Tax- reduction ซึ่งอนุญาตให้บริษัทหัก 55% ของต้นทุนการลงทุนจากผลกําไรนอกเหนือจากค่าเสื่อมราคาที่ได้รับอนุญาต

รูปที่ 19 โครงสร้างตลาดไฟฟ้าในเนเธอร์แลนด์
ที่มา Deloitte
ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Corporate PPA) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการวางโครงการตลาดไฟฟ้าของเนเธอร์แลนด์บังคับให้ธุรกิจโครงข่ายและสายส่งก๊าช แยกกลุ่มออกจากกลุ่มบริษัทที่ทำหน้าที่ผลิตจัดหาหรือซื้อขายพลังงาน (Mandatory Unbundling) ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟเอกชนแต่ละรายสามารถทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างกันเองได้โดยไม่จำเป็นการไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง (ไม่ต้องทำ Back-to-Back PPA) หากแต่ผู้ให้บริการโครงข่ายหรือบริษัทภายนอกเข้ามารับผิดชอบในการให้บริการ balancing แทนได้

รูปที่ 20 การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ PPA โดยไม่ต้องมีการทำ Back-to-Back PPA กับทางการไฟฟ้า
ที่มา Bird & Bird (2023)
ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าเอกชนกับเอกชนในประเทศเนเธอร์แลนด์ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจาก Corporate PPA มักจะดำเนินการจัดทำระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ผลิตและผู้ซื้อที่เป็นคู่สัญญาสามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลงในระยะยาว อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนที่มีขนาดกลางและขนาดย่อมก็ต้องการซื้อขายไฟฟ้าภายใต้ข้อตกลงนี้ ดังนั้น Invest-Nl ซึ่งเป็นสถาบันส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติเสนอแนวคิดกลไกกองทุนค้ำประกันในกรณีที่ผู้ซื้อไฟฟ้าล้มละลายก่อนสิ้นสุดสัญญา ซึ่งมีการเก็บเบี้ยประกันภัยในอัตราที่เหมาะสมจากผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งโครงสร้างการรับประกันสามารถเจรจาเพื่อปรับให้เข้ากับโครงสร้าง PPA และระดับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับผู้ลงทุนและผู้ให้กู้ นอกเหนือไปจากผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ซื้อ อย่างไรแนวคิดกองทุนค้ำประกันก็ตามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
2) ประเทศฝรั่งเศส (France)
แรงผลักดันด้านราคาไฟฟ้าและเป้าหมายการตอบความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมฝรั่งเศสทำให้ จำนวนข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า Corporate PPA ใหม่ในช่วงปี 2022-2023 คิดเป็น 1,418.6 GWh มีจำนวนฉบับสัญญาใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และมียอดรวมปริมาณการผลิตไฟฟ้าในสัญญาเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในขณะเดียวกันผู้ผลิตไฟฟ้าก็แสวงหาผลตอบแทนที่ได้จากราคาค่าไฟที่สูงขึ้น โดยเทียบกับมาตราการ Contract for Difference (CfD) ที่ได้รับจากรัฐอยู่ในปัจจุบัน ความนิยมใน CPPA นั้นใช้ในทั้งโครงการลงทุนด้านพลังงานใหม่ และใช้ทดแทนโครงการลงทุนด้านพลังงานที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากสัญญา Feed-in-tariff เดิมจะสิ้นสุดลง

รูปที่ 21 โครงสร้างตลาดไฟฟ้าของฝรั่งเศส
ที่มา Cour des comptes report “Organisation of the electricity market” (2022)
รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีการวางกรอบกฎหมายเฉพาะ เพื่อเร่งการตอบเป้าหมาย Carbon Neutrality และแก้ปัญหาวิกฤตราคาค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น สภานิติบัญญัติจึงได้มีการออกพระราชบัญญัติเร่งรัดพลังงานหมุนเวียน (ENR Acceleration Act) ในวันที่ 10 มีนาคม 2023
โดยประการแรก การกำหนดระเบียบใหม่ที่ชัดเจนสำหรับรูปแบบ Physical และ Virtual PPA ที่แตกต่างกัน เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนให้ใช้ระยะเวลาสั้นลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง
ประการที่สอง การอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐสามารถทำข้อตกลง CPPA กับภาคเอกชนได้โดยชอบธรรม โดยไม่ขัดกับหลักการประมูลแข่งขันภายใต้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (French Public Procurement Code) ที่กำหนดให้ระยะเวลาในสัญญามีระยะเวลาสั้นและอาจจะไม่สอดคล้องกับการทำสัญญาใน CPPA ที่จำเป็นต้องผูกพันในระยะยาว
ประการที่สาม การอนุญาตให้มี Hybrid Model ซึ่งเป็นการผสมกลไก CPPA กับ มาตรการ Feed-in-Tariff หรือ Contract for Difference ซึ่งเป็นไปเพื่อเปิดให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ผู้ซื้อไฟรายย่อยสามารถเข้าทำสัญญา CPPA ในส่วนของไฟฟ้าที่เหลือของโครงการได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ผลิตในกรณีที่ผู้ซื้อไฟรายย่อยเหล่านั้นจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งผู้ซื้อไฟฟ้ารายย่อยในสัญญา Hybrid จะไม่สามารถขายต่อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Guarantee of Origin) ให้ผู้อื่นได้
นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกองทุนค้ำประกันข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน(Électricité Renouvelable: GER) สำหรับบริษัทในภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 โดยมอบหมายให้ ธนาคารเพื่อการลงทุนสาธารณะของประเทศ (BPI) ดำเนินการกองทุนค้ำประกันซึ่งออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมที่อาจไม่สามารถออกเอกสารรับประกันการซื้อไฟฟ้า (Letter of Guarantee) ตามที่ผู้ผลิตเรียกร้องได้ ซึ่งกองทุนค้ำประกัน GER ได้ดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2023 และเงินทุนเริ่มต้นในกองทุนที่ 68 ล้านยูโร เพื่อรองรับ CPPA สำหรับการติดตั้งกำลังการผลิตใหม่ จำนวน 500 500 เมกะวัตต์ และอาจมีการขยายวงเงินเพิ่มเติมรองรับความต้องการของ Corporate PPA ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการ GER มีรูปแบบออกเอกสารค้ำประกันจากธนาคารและไม่นับเป็นการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐ โดยกองทุนทำหน้าที่ชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดนัดสัญญาในฝั่งผู้ซื้อ หากผิดนัดสามเดือนขึ้นไป และจำกัดเป็นการรับประกันเฉพาะโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่บนบกและมีการเชื่อมต่อกับโครงข่าย โดยระยะเวลาสัญญาไม่น้อยกว่า 10 ปีและมีการรับประกันปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปีไม่น้อยกว่า10 GWh ทั้งนี้ รูปแบบของสัญญา Corporate PPA ที่ครอบคลุม เช่น (i) ผู้ผลิตรายเดียว และผู้รับซื้อรายเดียว (ii) การรวมกลุ่มโครงการภายใต้ผู้ขายที่เป็นของกลุ่มเดียวกันกับผู้รับซื้อรายเดียว และ (iii) กรณีมีผู้รับซื้อกลางเพื่อให้บริการลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ ทาง GER จ่ายค่าตอบแทนรายเดือนให้ผู้ผลิตตามราคาตลาด
3.3 อาเซียน (ASEAN)
บริษัทเอกชนในประเทศแถบอาเซียนมีความต้องการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ภาคนโยบายและหน่วยงานกำกับในแต่ละประเทศจำเป็นต้องออกกฎระเบียบเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถทำสัญญาซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากโรงไฟฟ้าได้ ซึ่ง BloombergNEF ได้รีวิว 6 ประเทศในอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) พบว่าทั้ง 6 ประเทศอนุญาตให้มีการซื้อไฟฟ้าแบบ On-site และมีการซื้อขาย REC ภาคสมัครใจในทั้ง 6 ประเทศ แต่ในปัจจุบันมี 2 ประเทศในแถบอาเซียนเท่านั้นที่อนุญาตให้ซื้อไฟฟ้าแบบ Off-site คือประเทศสิงคโปร์ (อนุญาตในเดือนพฤศจิกายน 2561) และมาเลเซีย (อนุญาตในเดือนพฤศจิกายน 2565) ส่วนเวียดนาม (นโยบายอนุมัติในเดือนกรกฎาคม 2567) และไทย (กพช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 อนุมัติกรอบนำร่อง 2,000 MW (2 GW) สำหรับโครงการ Direct PPA) จะเป็นประเทศลำดับถัดไป

รูปที่ 22 รูปแบบการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน
ที่มา Bloomberg
1) ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands)
การกํากับดูแลกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่ชัดเจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อ RE วางแผนการลงทุนโครงการพลังงานระยะยาวได้ ดังนั้น การออกแบบกฎระเบียบและการทํางานของตลาดไฟฟ้าจึงมีบทบาทสําคัญในการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรมซึ่งสนับสนุนการเติบโตของ PPA สําหรับ RE ในสหรัฐอเมริกา
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ค่อนข้างจะล้าหลังในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ประกาศไว้ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในมิติการให้เงินอุดหนุนตามปริมาณ CO2 ที่ลดลงได้ภายใต้ SDE++ (Stimulation of Sustainable Energy Production) แทนที่มาตรการเดิมที่คิดจากปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ นอกจากนี้ มาตรการให้ลดหย่อนภาษีในโครงการลงทุนด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในรูปของ Energy Investment Tax- reduction ซึ่งอนุญาตให้บริษัทหัก 55% ของต้นทุนการลงทุนจากผลกําไรนอกเหนือจากค่าเสื่อมราคาที่ได้รับอนุญาต

รูปที่ 19 โครงสร้างตลาดไฟฟ้าในเนเธอร์แลนด์
ที่มา Deloitte
ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน (Corporate PPA) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการวางโครงการตลาดไฟฟ้าของเนเธอร์แลนด์บังคับให้ธุรกิจโครงข่ายและสายส่งก๊าช แยกกลุ่มออกจากกลุ่มบริษัทที่ทำหน้าที่ผลิตจัดหาหรือซื้อขายพลังงาน (Mandatory Unbundling) ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟเอกชนแต่ละรายสามารถทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างกันเองได้โดยไม่จำเป็นการไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง (ไม่ต้องทำ Back-to-Back PPA) หากแต่ผู้ให้บริการโครงข่ายหรือบริษัทภายนอกเข้ามารับผิดชอบในการให้บริการ balancing แทนได้

รูปที่ 20 การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ PPA โดยไม่ต้องมีการทำ Back-to-Back PPA กับทางการไฟฟ้า
ที่มา Bird & Bird (2023)
ข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าเอกชนกับเอกชนในประเทศเนเธอร์แลนด์ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจาก Corporate PPA มักจะดำเนินการจัดทำระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ผลิตและผู้ซื้อที่เป็นคู่สัญญาสามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลงในระยะยาว อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนที่มีขนาดกลางและขนาดย่อมก็ต้องการซื้อขายไฟฟ้าภายใต้ข้อตกลงนี้ ดังนั้น Invest-Nl ซึ่งเป็นสถาบันส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติเสนอแนวคิดกลไกกองทุนค้ำประกันในกรณีที่ผู้ซื้อไฟฟ้าล้มละลายก่อนสิ้นสุดสัญญา ซึ่งมีการเก็บเบี้ยประกันภัยในอัตราที่เหมาะสมจากผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งโครงสร้างการรับประกันสามารถเจรจาเพื่อปรับให้เข้ากับโครงสร้าง PPA และระดับความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับผู้ลงทุนและผู้ให้กู้ นอกเหนือไปจากผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ซื้อ อย่างไรแนวคิดกองทุนค้ำประกันก็ตามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
กรกฎาคม 2567
ข้อมูลอ้างอิง
- Electric Vehicle Outlook 2024, BloombergNEF, June 12, 2024
- China’s Low-Cost Lithium-Ion Battery Push, BloombergNEF, June 19, 2024
- The Return of Plug-In Hybrids: Electric Mileage is Key, BloombergNEF, June 20, 2024
- IEA Global EV Outlook 2024: Moving towards increased affordability, International Energy Agency
- รายงานสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้า โอกาสและความท้าทายของไทย, กองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สินค้าอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์, กุมภาพันธ์ 2567
- รายงานสภาพการแข่งขันทางการค้าในธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย, ฝ่ายโครงสร้างและธุรกิจบริการ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า, กันยายน 2566
- ข้อมูลหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- ข้อมูลสถานีอัดประจุจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)